สำหรับเหตุการณ์ภายในสหพันธรัฐเอง อัตราส่วนของเชื้อชาติต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆกับการขยายตัวของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของชนพื้นเมืองในซาราวัคและซาบาห์ นอกจากนี้จำนวนชาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายจากการที่สิงคโปร์เข้าร่วมในสหพันธรัฐ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอีกด้านก็เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิงคโปร์และได้ถึงจุดอวสานในอีก 2 ปี ต่อมา เมื่อสิงคโปร์ได้ถอนตัวออกไปจากสหพันธรัฐมาเลเซียในเดือนสิงหาคม 1965 และประกาศตัวเป็นเอกราช การแยกตัวออกไปครั้งนั้น ถึงแม้สาเหตุเบื้องต้นมาจากความไม่ไว้ใจกันระหว่างชาวจีนและชาวมลายูอันเนื่องมาจากความไม่เสมอภาคในทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่การแสวงหาอำนาจทางการเมืองระหว่างพรรคอัมโนกับพรรคกิจประชา (People’s Action Party – PAP) และการแบ่งสรรผลประโยชน์ต่างๆที่ไม่ลงตัว ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในวิกฤตการณ์นั้น และยังส่งผลลบไปอีกนานในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ 2 ประเทศนั้น วิวัฒนาการทางการเมืองในสหพันธรัฐมาเลเซีย นับแต่นี้ไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 21 มี ประเด็นที่น่าสนใจอยู่เพียง 3 เรื่องด้วยกัน คือ
- ประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับการส่งเสริมชาวมลายู ตามลัทธิภูมิบุตร (Bumiputerism) ที่จะให้มี สถานภาพพิเศษและเข้าครอบงำทางการเมืองอย่างเด็ดขาด จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ ดังปรากฏในการจลาจลเมื่อเดือนพฤษภาคม 1969 ความตึงเครียดและการเผชิญหน้าระหว่างชาวมลายูและ ชาวจีนในสหพันธรัฐจึงอยู่ในความรู้สึกลึก ๆ ของผู้คนอันจะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาการทางสังคมใน ระยะยาว
- ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่รัฐพยายามนำเอานโยบายเศรษฐกิจ ใหม่ (New Economic Policy – NEP) มาใช้ระหว่างปี ค.ศ. 1970-1990 และการประกาศวิสัยทัศน์ 2020 (Vision 2020) ในปี ค.ศ. 1991 ที่จะทำให้มาเลเซียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 30 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันประเด็นทางเชื้อชาติก็เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เมื่อกระบวนการส่งเสริมชาวมลายูได้เข้า แทรกแซงในการกำหนดและการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจากข้อตกลงเดิมที่จะให้ชาวมลายูดูแล ด้านการเมืองและชาวจีนดูแลด้านเศรษฐกิจ แต่เมื่อนโยบายเศรษฐกิจใหม่ถูกนำมาใช้ รัฐบาลก็พยายามลด ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างชาวมลายูกับชาวจีนด้วยการส่งเสริมชาวมลายูในทุกรูปแบบ ถึงขั้นนำเอา ระบบอุปถัมภ์ (patronage) มาใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลสะท้อนในด้านจิตใจต่อชน 2 เชื้อชาติอย่างลึกซึ้ง
- ประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า พรรคอัมโนพยายามรักษาความ เป็นผู้นำของกลุ่มหรือพรรคพันธมิตร (Alliance Party) หรือพรรคองค์การพันธมิตร (Alliance Organization) ไว้ โดยที่มีอีก 2 พรรคการเมืองเข้าร่วมคือ พรรคของชาวจีนที่มีชื่อว่า สมาคมชาวจีนมลายู หรือเอ็มซีเอ (Malayan Chinese Association – MCA) และพรรคของชาวอินเดีย คือสภาชาวอินเดียมลายู หรือเอ็มไอซี (Malayan Indian Congress – MIC) แต่เมื่อเห็นว่าฐานเสียงพรรคพันธมิตรประสบความ ล้มเหลวในการเลือกตั้งของปี ค.ศ. 1969 พรรคอัมโนจึงได้ขยายสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรออกไป ด้วยการ นำเอาฝ่ายค้านบางพรรคที่เป็นตัวแทนของกลุ่มหรือชุมชนต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นสมาพันธ์แห่งพรรค การเมืองที่เรียกว่า แนวร่วมแห่งชาติ (National หรือ Barisan Nasional – BN) ขึ้นมาในการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1947 อย่างไรก็ตาม การสร้างระบบพันธมิตรตาม 2 รูปแบบดังกล่าวนี้ เป็นการแสดงออกของการ ผสานผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างชาติพันธุ์ หรือเป็นการประสานกันของกลุ่มชนที่เชื้อชาติต่างกัน (consociationalism) ของพรรคอัมโนที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดเป็นแกนนำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น